Sunday, January 11, 2009

Apple ตัดสัมพันธ์กับ Macworld

          Apple ออกแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทจะเข้าร่วมงาน Macworld ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้าเป็นปีสุดท้ายและคนที่จะขึ้นเวทีครั้งนี้จะไม่ใช่สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอของบริษัทที่ขึ้นแสดงสุนทรพจน์เป็นประจำทุกครั้ง แต่จะเป็นฟิล ชิลเลอร์ (Phil Schiller )  รองประธานอาวุโสด้านการตลาดของแอ็ปเปิล 
          เรื่องนี้สตีฟ ดาวลิ่ง ( Steve Dowling ) ตัวแทนของแอ็ปเปิ้ลปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาพของจ็อบส์ ซึ่งได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญในการพูดคุยกันตลอด 1 ปีที่ผ่านมา การขาดจ็อบส์ ขึ้นเวทีซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำโดยบริษัทโฆษณาอย่าง IDG  ถือว่าขาดบุคคลสำคัญไปเนื่องจาก สตีฟ จ็อบส์ ได้กลายเป็นตำนานของเวทีนี้ไปแล้วเพราะทุกครั้งที่ไปปรากฏตัว สตีฟ จ็อบส์จะสามารถดึงคนดู คนฟังให้ใจจดจ่อกับการนำเสนอโปรดักส์ตัวใหม่ที่สำคัญที่สุดของแอ็ปเปิลรวมถึงยุทธศาสตร์ของบริษัท  ดังนั้นการประกาศไม่เข้าร่วมงานในครั้งต่อไปจึงทำให้คนที่ติดตามผลงานของเขามาตลอดอดคิดไม่ได้ว่าสุขภาพร่างกายของจ็อบส์คงมีปัญหาอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวลือหนาหูมาตลอด 
          ดาวลิ่ง ตัวแทนของแอ็ปเปิล กล่าวว่าฟิลจะเป็นคนขึ้นกล่าวแทนจ็อบส์ โดยจะเป็นการขึ้นพูดครั้งสุดท้ายของบริษัท ด้วยเหตุผลหนึ่งก็คือเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลสำหรับบริษัทที่จะต้องลงทุนมหาศาลในงานเทรด โชว์ ที่บริษัทจะไม่เข้าร่วมอีกต่อไปแล้ว นักวิเคราะห์มองว่าที่แอ็ปเปิลกล้าประกาศเช่นนี้ ก็เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องพึ่งงานอย่าง Macworld เพื่อเป็นเวทีในการโปรโมตโปรดักส์อีกต่อไปแล้ว เพราะขณะนี้บริษัทมีร้านค้าปลีกอยู่ทั่วโลกถึง 250 แห่ง สามารถเรียกลูกค้าได้สัปดาห์ละหลายล้านคนและยังมีเว็บไซต์ที่ติดอันดับท็อปเท็นในแง่ของคนที่เข้าไปชมหรือใช้อินเทอร์เน็ตด้วย 
          ลึกๆแล้วความสัมพันธ์ระหว่างแอ็ปเปิ้ลกับ IDG ซึ่งเป็นผู้จัดงานเริ่มมีปัญหามาพอสมควรแล้วตั้งแต่การเข้าร่วมงานที่ซานฟรานซิสโก ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองบริษัทหนักข้อขึ้นเมื่อทาง IDG ตัดสินใจย้ายการจัดงาน Macworld  จากนิวยอร์กไปยังบอสตันใกล้กับสำนักงานใหญ่ของ IDG ที่ฟรามิงแฮม รัฐแมสซาชูเซตส์  ทำให้แอ็ปเปิลถอนตัว ขณะที่การจัดงาน East Coast Macworld ในปี 2005 ก็ต้องยกเลิกไปเนื่องจากขาดดาราหลักที่จะเป็นตัวชูโรงเรียกความสนใจของผู้เข้าชมงาน   
          IDG ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆเกี่ยวกับแถลงการณ์ของแอ็ปเปิลที่จะเข้าร่วมงานในมกราคมปีหน้าเป็นครั้งสุดท้าย  แต่การตัดสินใจของจ็อบส์ก็ไม่ได้หมายความว่าวันของเขาในฐานะโฆษกคนสำคัญของแอ็ปเปิลจะสิ้นสุดลง เพราะปรากฏชัดเจนว่าแอ็ปเปิลกำลังวางแผนที่จะจัดอีเวนท์ของตัวเองขึ้นมาเช่น การจัดงาน Worldwide Developers Conference ประจำปีขึ้นในเดือนมิถุนายนและงาน iPod Music ในเดือนกันยายน  แต่เมื่อเทียบผลสัมฤทธิแล้วก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ฮือฮาเท่ากับการเข้าร่วม Macworld ซึ่งเกิดปรากฏการณ์แฟนพันธุ์แท้ของแอ็ปเปิลที่ยอมเข้าคิวเพื่อรอซื้อบัตรเพื่อขอชมโปรดักส์ใหม่ๆของแอ็ปเปิลเป็นขวัญตา   ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าแอ็ปเปิลมีแผนจะเปิดตัวอีเวนท์ที่มีแนวทางจัดงานคล้ายๆกับ Macworld หรือไม่ ท่ามกลางความสนใจในการจับจ้องมองดูของคนในอุตสาหกรรมนี้ 
          แต่กำหนดการที่ออกมาชัดเจนแล้วก็คือการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ของฟิล ชิลเลอร์ตัวแทนของสตีฟ จ็อบส์ จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 6 มกราคม 2552 ในเวลา 09.00 น. ในส่วนของ IDG แม้จะยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้โดยตรงแต่ก็ได้มีการส่งข่าวไปยังสื่อมวลชนว่าทางบริษัทยังคงจะจัดงาน MacWorld 2010  ต่อไปไม่ว่าแอ็ปเปิ้ลจะเข้าร่วมงานหรือไม่ก็ตาม 
          ข่าวการยกเลิกการเข้าร่วมงาน MacWorld ถือเป็นข่าวที่ช็อกวงการไม่น้อยและดูเหมือนจะถูกตีความว่าแอ็ปเปิลได้ตัดสินใจแล้วว่าไม่จำเป็นจะต้องเข้าร่วมปรากฏตัวในงาน Macworld ที่เคยเป็นเวทีในการกำหนดนิยามของแอ็ปเปิลตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และดูเหมือนแอ็ปเปิลกำลังเตรียมการสำหรับอนาคตเมื่อซีอีโออย่างสตีฟ จ็อบส์ ที่เป็นไอคอนและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจะไม่ใช่คนที่ครองเวทีในงาน Macworld เหมือนที่เคยทำอีกต่อไป แต่บริษัทกำลังเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ด้วยการเข้าถึงลูกค้าโดยตรง 
          แอ็ปเปิลดำเนินแนวทางการตลาดโดยอาศัยรูปแบบหลัก 2 รูปแบบ คือรูปแบบแรกเน้นความสามารถที่เหนือกว่าคู่แข่งด้วยบริการดนตรีและเพลงแบบ cool music  เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นโปรดักส์ที่ทำอะไรได้มากกว่าคนอื่นๆ เช่นการโฆษณาระหว่าง Mac กับ PC  และ dancing iPod listeners   รูปแบบที่ 2 เรียกกันว่า Stevenote นั่นคือการที่สตีฟ จ็อบส์ ได้แสดงความเป็นอัจฉริยะหรือปรมาจารย์ในการพรีเซนต์โปรดักส์ใหม่ๆและผลักดันยุทธศาสตร์ให้ปรากฏต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นในงาน Macworld หรือการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน 
          งาน Macworld จึงถือเป็นเวทีของสตีฟ จ็อบส์อย่างแท้จริงเพราะสามารถเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนสายเทคโนโลยีและถูกกล่าวถึงในข่าวภาคค่ำของโทรทัศน์เกือบทุกสถานีของสหรัฐ เหนือกว่างาน  Worldwide Developers Conference หรืองาน iPod event  ซึ่งแอ็ปเปิลเป็นคนจัดเองเสียอีก  Macworld ทำให้แอ็ปเปิลสามารถเป็นข่าวใหญ่ในเดือนมกราคม 2007 เมื่อทางบริษัทยืนยันข่าวลือที่ดำเนินมายาวนานว่าบริษัทจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย iPhone 
          แต่งานอย่าง Macworld Expo สำหรับแอ็ปเปิ้ลก็ใช่ว่าจะดีไปเสียหมด เพราะบริษัทอย่างแอ็ปเปิ้ลไม่ใช่บริษัทที่ให้เวลามากนักกับเรื่องอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่  แอ็ปเปิ้ลมักจะไม่ค่อยโดดเด่นหรือไม่ปรากฏตัวในเวทีหารือรวมถึงการปรากฏเป็นข่าวในสื่อเมื่อเทียบกับความพยายามของบริษัทอื่นๆ ท่ามกลางความเป็นจริงที่ว่าธรรมชาติของตลาดเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีที่สงวนไว้สำหรับคนบางกลุ่ม หรือบางอาชีพได้กลายไปเป็นสิ่งที่แทบทุกคนกำลังใช้ในชีวิตประจำวัน 
          พูดง่ายๆก็คือแฟนพันธุ์แท้ของแอ็ปเปิลโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นจะต้องไปเดินแถวย่าน Moscone Center ของซานฟรานซิสโกในเดือนมกราคมเพื่อเบียดเสียดกับคนอื่นๆ  แต่วันนี้ทำแค่รอคอยโปรดักส์ที่จะออกมาทางออนไลน์หรืออยู่ใกล้กับร้านของแอ็ปเปิล หรือติดตามข่าวสารจากบล็อคต่างๆก็ได้ข้อมูลแล้ว และเมื่อแอ็ปเปิลไม่เข้าร่วมงาน  Macworld แอ็ปเปิลก็จำเป็นต้องจัดอีเวนท์ให้บ่อยขึ้นเช่นงาน iPhone SDK  ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เพื่อเป็นเวทีในการส่งสาส์นของแอ็ปเปิล 
          วิธีการสื่อสารกับลูกค้านับต่อจากนี้ แอ็ปเปิลคงจะใช้วิธีการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตถี่ขึ้นรวมถึงกลยุทธ์แบบพูดกันปากต่อปากซึ่ง เป็นสิ่งที่แอ็ปเปิลแทบจะไม่ต้องทำเองเลยเพราะปรากฏอยู่มากมายใน Mac blogger และข่าวอื่นๆอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นแอ็ปเปิลก็จะละเลยการจัดอีเวนท์ต่อสาธารณชนไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะพลาดท่าเสียทีให้กับงานใหญ่ของออราเคิลอย่าง OracleWorldLovefest ซึ่งจัดเป็นประจำที่ซานฟรานซิสโกทุกฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งสามารถเรียกลูกค้าแฟนพันธุ์แท้ของ Mac ให้ไปปรากฏตัวได้   อีกปัญหาท้าทายหนึ่งก็คือแอ็ปเปิลจะสามารถสร้างอีเวนท์ในร้านค้าปลีกในนิวยอร์คและซานฟรานซิสโกได้บ่อยครั้งแค่ไหนหากคิดที่จะควบคุมบางเรื่องหรือบางโปรดักส์เอาไว้เพราะไม่อยากปล่อยออกไปจนหมด 
          นักวิเคราะห์มองว่านี่ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆของแอ็ปเปิลที่มีนโยบายควบคุมการปล่อยข่าวออกสู่สาธารณะ แต่ปล่อยให้เป็นงานของสตีฟ จ็อบส์ที่มักใช้เวลาพูดในงาน Macworld นานถึง 1 ชั่วโมงครึ่งเพราะเชื่อมั่นว่าจะมีคนรอคอยฟัง แต่ต้องไม่ลืมว่าขณะนี้เทคโนโลยีก้าวไกลถึงขั้นทำให้คนเรือนล้านสามารถรับรู้ข่าวสารและข่าวลือผ่านทางอินเทอร์เน็ตและบล็อกได้มากมาย 
          นักวิเคราะห์มองว่าเพื่อรักษาสถานะหรือตำแหน่งของบริษัทที่ได้ชื่อว่าสร้างความฮือฮาได้มากที่สุดบริษัทหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้ แอ็ปเปิลจำเป็นต้องแสวงหาบางอย่างเพื่อถอดแบบหรือจำลองประสบการณ์โดยไม่ต้องเข้าร่วมงาน Macworld ซึ่งแน่นอนว่าคนหนึ่งที่ไม่สามารถหายไปไหนก็คือสตีฟ จ็อบส์ที่ผูกพันอนาคตกับแอ็ปเปิลนั่นเอง 
          การยุติความสัมพันธ์กับ Macworld ของแอ็ปเปิลจะเป็นการเปิดทางให้บริษัทสามารถแนะนำโฉมหน้าใหม่หรือวิธีการใหม่ๆในการรวมการพรีเซนต์ทางการตลาดที่สำคัญที่สุดเข้าไว้ด้วยกัน  รูปธรรมอย่างหนึ่งก็คือแอ็ปเปิลกำลังจะสร้างคนอื่นขึ้นมาแทนที่สตีฟ จ็อบส์ เพื่อขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ แต่ในเรื่องที่สำคัญที่สุดก็ยังคงสงวนไว้ให้กับสตีฟ จ็อบส์ คนเดียวเท่านั้น 
          เป็นที่ยอมรับกันว่าคงมีผู้บริหารของแอ็ปเปิลเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่อาจจะสามารถถอดแบบบทบาทของสตีฟ จ็อบส์ได้ แต่ถ้าหากแอ็ปเปิลใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาการจัดอีเวนท์ของตนเองขึ้นมาพร้อมกับการเปิดกว้างให้ผู้บริหารพนักงานของบริษัทมีโอกาสได้ปรึกษาหารือหรือถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับการสร้างความเจริญเติบโตให้กับบริษัท ก็แน่นอนว่าจะสามารถลดการพึ่งพาหรือต้องอาศัยใบบุญของสตีฟ จ็อบส์ ในการกำหนดท่าทีหรือกลยุทธ์ของบริษัทต่อสาธารณชนลงได้ แต่ถึงอย่างไรสตีฟ จ็อบส์ ก็จะยังเป็นตำนานอมตะของแอ็ปเปิล

No comments:

Post a Comment